แด่…เชราร์ อุลลิเยร์ 1947-2020เหมือนใบไม้ร่วง…ในหมู่คนฟุตบอลระดับโลก
เหมือนใบไม้ร่วง…ในหมู่คนฟุตบอลระดับโลก
แด่…เชราร์ อุลลิเยร์ 1947-2020เหมือนใบไม้ร่วง…ในหมู่คนฟุตบอลระดับโลก
ปี 2020 คือปีแห่งการสูญเสียบุคลากรระดับตำนานลูกหนังอย่างแท้จริง นอบบี สไตลส์, ปีเตอร์ โบเนตติ, แจ๊คกี้ ชาร์ลตัน,เรย์ คลีเมนซ์, ดีเอโก้ มาราโดนา, เปาโล รอสซี่ มาถึงล่าสุด เชราร์ อุลลิเยร์ อดีตผจก. ลิเวอร์พูล และ ทีมชาติฝรั่งเศส
ตามข่าวจากฟากปารีสรายงานก่อน จากนั้นก็ทั่วโลกเลย เชื่อว่าแฟนบอลมากมายและหลายทีมล้วนแล้วผูกพันกับ อุลลิเยร์ เมื่อทราบข่าวนี้ย่อมรู้สึกตกใจ
ตกใจแล้วก็ อาลัยในการจากไปของเขา ในฐานะเดอะ ค็อป ผมเลือกมองในมุมชีวิตกับลิเวอร์พูล มองมุมบวกของเขากับสโมสรแห่งนี้ ด้วยความเข้าใจว่าโลกฟุตบอลยุคพรีเมียร์ลีกมันคือการเปลี่ยนแปลง
แด่…เชราร์ อุลลิเยร์ 1947-2020เหมือนใบไม้ร่วง…ในหมู่คนฟุตบอลระดับโลก
อาร์แซน เวนเกอร์ ทำทีมอาร์เซนอลในสูตรฝรั่งเศสจนคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฝ่ายบริหารหงส์แดงตอนนั้นคือตระกูล มัวรส์ ในเดวิด มัวร์ส ดูแลทีม มองว่าวิถีเก่าๆคงใช้ได้ผลยาก…
ช่วงนั้นทายาทบูทรูมคนสุดท้ายทำงาน นั่นคือ รอย อีแวนส์ การดึง เชราร์ มาจากภาคพื้นยุโรปและเป็นฝรั่งเศสด้วย คงเป็นทางเลือกที่ดี
แว้บแรกที่สโมสรแต่งตั้งโค้ชคู่…ตามธรรมชาติรู้เลยว่า อีแวนส์ กำลังจะออกไป ก็ตามนั้น…เชราร์ ทำงานกับ อีแวนส์ แบบโค้ชคู่อยู่สี่ห้าเดือน
ตอนนั้นมีความสับสนเรื่องงานอยู่ เพราะ รอย ทำทีมมาตั้งแต่ปี 1994 ถึงปี 1998 รอนนี มอแรน หนึ่งในสต๊าฟ เจ้าของฉายา “มิสเตอร์ ลิเวอร์พูล” ลาออก
รับใช้ทีมมาตั้งแต่เป็นนักบอลจนถึงทีมงานห้องเก็บรองเท้า จังหวะนั้น อุลลิเยร์ ถูกทาบทามจากสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส
อาจมีความล้มเหลวเรื่องพาทีมไปบอลโลกปี 1994 ทั้งที่นักเตะชุดนั้นตัวเทพๆของวงการ ดาวิด ชิโนลา, เอริก คันโตนา แต่เราก็มองข้ามมันไปเถอะครับ
จะว่าไป อุลลิเยร์ เหมือนนักพัฒนา เขาเหมือนประธานเทคนิค เขามองภาพกว้าง…การเป็นโค้ชบอลระดับสโมสรก็เปแอสเช แล้วมาทีมชาติ ก่อนที่จะรับงานคุมทีมลิเวอร์พูล…มันคือประสบการณ์ฟุตบอลของเขา
ที่สำคัญ ชีวิตการเป็นผจก. ทีมบอลสโมสรนั้น ถ้าความจำผมไม่คลาดเคลื่อน เขาอยู่ในแอนฟิลด์ นานที่สุดครับ
การมาของ อุลลิเยร์ คงทำให้ รอย ต้องอึดอัดแน่ๆกับโค้ชคู่ พ.ย. 1998 รอย ลาออก ทำให้ เชราร์ จึงนั่งแท่นคุมทีมเดี่ยวๆ
จากนั้นสโมสรเลือก ฟิล ธอมป์สัน มาเป็นผู้ช่วย
แม้มีทีมงานจากฝรั่งเศสมา แต่ ธอมโม คือคนใน เป็นทั้งสเก๊าเซอร์ และตำนานผู้ยิ่งใหญ่ ทำงานเป็นมือขวา เคนนี ดัลกลิช มาก่อน แล้วอยู่กับ แกรม ซูเนสส์ ได้ปีก็โดนปลด
การช่วยงาน อุลลิเยร์ คือสิ่งที่ ธอมโม ปรารถนาเพราะเขาได้กลับมายังทีมที่เขารัก ถือว่า ธอมโม ช่วยงานได้มาก และเป็นอีกคนในแอนฟิลด์ ที่สนิทกับเขา ถ้าถามว่าอะไรคือคุณค่าของ อุลลิเยร์
ผมมองข้ามเรื่อง “ทริปเปิ้ลแชมป์ 2001”
หรือการเบียดแย่งแชมป์กับแมนฯยูฯแล้วได้ลุ้น ผมว่า “แนวคิด” ในการทำงานของเขาคือคุณค่านั้น อย่างที่เขียนไปตอนต้น เขาเหมือนประธานเทคนิค เขามองภาพได้ชัด
เขาเคยแนะนำให้ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ซื้อ เอริก คันโตนา ก่อนที่ ก็องโต้ ไปทดสอบฝีเท้ากับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ซึ่ง เทรเวอร์ ฟรานซิส ไม่เอา
ช่วงเขามาทำทีมลิเวอร์พูล ทีมเริ่มเล่นบอลแบบภาคพื้นยุโรป ทีมยังมีลุ้นแชมป์ ทีมรักษาสถานะภาพระดับท็อปเอาไว้ ในการเปลี่ยนผ่านโค้ชช่วงนั้น
หากเราย้อนไปดูช่วงที่ แกรม ซูเนสส์ ทำทีมต้น90 หงส์แดงเล่นเหมือนวิมเบิลดัน เล่นไม่ได้ดีอะไร แถมยังหมดลุ้น…ถ้วยเอฟเอ คัพ เป็นผลงานหนึ่งเดียวของซูอี้
แต่แฟนหงส์ไม่ปลื้มซูเนสส์ เท่าไหร่ ภาพจำคือ ยอดนักเตะฮาร์ดแมนผู้เก่งกาจ ภาพลืมคือ…ผจก. หงส์แดงที่ล้มเหลวโดยเฉพาะวิธีการทำงาน
แม้อุลลิเยร์ ไม่ได้ทำให้หงส์แดงเล่นเหมือน “เครื่องจักรสีแดง” ในยุค70-90 แต่เขาคือโค้ชที่มาจากภาคพื้นยุโรป เหมือน เวนเกอร์ เขามี “โน ฮาว” ทำบอล
แน่นอนโค้ชอังกฤษ คงมีแค่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ล้ำกว่าคนอื่น
แต่สำหรับ อุลลิเยร์ เขานำแนวคิดใหม่มาปรับใช้กับบอลอังกฤษ โอเค นักเตะต่างชาติมาไม่ขาดสาย แต่เด็กท้องถิ่นหรือคนอังกฤษก็ต้องมีเป็นแกน ยุคของ อุลลิเยร์ คือยุคที่แฟนลิเวอร์พูลยังตั้งความหวังในการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก
ด้วยขุนพล, ด้วยแทกติก การเล่น ด้วยพลังเชียร์ ซึ่งแม้สุดท้ายทีมได้แค่รองแชมป์ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจากการทำงานของ อุลลิเยร์ ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา แนวทางการซ้อมแบบยุโรป
การให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งของสโมสร เจมี คาร์ราเกอร์ มาปักหลักในยุคของเขา แม้ถูกดึงขึ้นมาเพราะ อีแวนส์ ไมเคิล โอเวน อาจลงสนามเล่นกับทีมก่อนแล้ว (ปี1997) แต่เขาคือกองหน้าคู่บุญของ อุลลิเยร์ ในเวลาต่อมา
สตีเวน เจอร์ราร์ด คือสายตรงที่ อุลลิเยร์ ดึงขึ้นมาจากทีมอะคาเดมี หงส์แดง ก่อนมอบปลอกแขนกัปตันทีมให้…
ความดีงามของ อุลลิเยร์ ถูกรับรู้จากสาวกเดอะ ค็อป โดยไม่ต้องเป็นแชมป์อะไรมากมาย
มันเกิดขึ้นจากผลงานของเขาตลอด 6 ปีเต็มๆที่รับใช้สโมสรแห่งนี้ จนได้ก่อเกิดความผูกพันกับเดอะ ค็อป เหมือนเขาเป็น “ญาติผู้ใหญ่” ของแฟนหงส์
ผมเองมีโอกาสเจอเขาแค่ครั้งเดียวตอนที่ อุลลิเยร์ พาทีมมาเมืองไทย (ปี2001)
ในโอกาสที่เป็นพิธีกรงานแถลงข่าวแมตช์แข่งขัน รวมทั้งงานภาคสนามกับคุณศรสวรรค์ ภู่วิจิตร เท่าที่คุย…เขาคือผู้ใหญ่ใจดี อยู่ใกล้ๆแล้วอบอุ่น ก็ไม่แปลกที่เดอะ ค็อป ในอังกฤษพูดถึงเขาแง่บวกอยู่เสมอ
การจากไปของ อุลลิเยร์ เกิดขึ้นแบบไม่ตั้งหลัก ตั้งตัวอะไรกันเลย อ่านข่าวแล้วตกใจเหมือนญาติสนิทมิตรสหายตัวเองเสียชีวิต
นี่คือความสูญเสียของชาวหงส์เป็นคนที่สองในรอบปี 2020 ต่อจาก เรย์ คลีเมนซ์ ยอดนายประตูผู้ยิ่งใหญ่
ในวันที่เขาจากไป…การร่ำลา ผ่านโซเชียล มีเดีย คือเครื่องยืนยันในคุณค่าของเขา ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับบอลฝรั่งเศส, สโมสรในลีกเอิงหากแต่เด็กหงส์ยังยึดถือและยกย่อง เชราร์ อุลลิเยร์ ผู้เป็นโค้ชในตำนาน
ไม่ว่า เชราร์ ยังคงมีลมหายใจอยู่หรือหมดลมไปแล้วก็ตาม
#RIP